หมวดหมู่ : กลุ่มอำนวยการ
เรื่อง : การติดตามประเมินผลการควบคุมภายใน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘
blog : Admoff008
ระดับ : [ มือใหม่ ]
อ่าน : 1380
พฤหัสบดี ที่ 1 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2559
พิมพ์  

การควบคุมภายใน เป็นกระบวนการทำงานที่ฝ่ายบริหารและบุคลากรของหน่วยราชการที่เป็นหน่วยรับตรวจทุกแห่ง กำหนดให้มีขึ้นเพื่อให้ความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่า การดำเนินงานตามบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ จะบรรลุวัตถุประสงค์เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน มีการปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง กล่าวได้ว่าการควบคุมภายในเป็นส่วนประกอบที่แทรกหรือแฝงอยู่ในการปฏิบัติงานตามปกติของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ฝ่ายบริหารจึงควรนำการควบคุมภายในมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่การวางแผน การดำเนินการ และการติดตามผล ใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานในทุกส่วน ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานในด้านการประหยัด การใช้งบประมาณ และทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีวิธีป้องกันความเสี่ยง ลดความผิดพลาด ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน เปิดโอกาสให้บุคลากรทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดวางระบบการควบคุมภายใน และดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อพัฒนาและกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหางานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ
       ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๕  ให้หน่วยรับตรวจจัดวางระบบควบคุมภายใน โดยใช้มาตรฐานการควบคุมภายในตามระเบียบนี้ และข้อ ๖  ให้ผู้รับตรวจรายงานต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้กำกับดูแล และคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการควบคุมภายในอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณหรือปีปฏิทิน ซึ่งจะมีรูปแบบรายงานและขั้นตอนกำหนดไว้ จึงถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้รับผิดชอบ ทั้งฝ่ายบริหารและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคนในหน่วยงาน ต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานการควบคุมภายในให้เกิดผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์
      สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เป็นส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖  มีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้เป็นไปตามแนวนโยบาย การปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข
       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป ลงสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจบริหารและจัดการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์คณะบุคคล ทั้งในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา, อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา, คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมพัฒนาตามอำนาจหน้าที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐาน ดังนั้นเมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เป็นส่วนงานย่อยตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. ๒๕๔๔ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา จึงมีอำนาจหน้าที่ต้องจัดวางระบบการควบคุมภายใน และรายงานการควบคุมภายในให้เป็นไปตามระเบียบฯ เช่นกัน
หลักการและแนวคิดการดำเนินงานระบบการควบคุมภายใน
       ๑.  การควบคุมภายใน เป็นส่วนประกอบที่แทรกหรือแฝงอยู่ในการปฏิบัติงานตามปกติ การควบคุมภายในมิใช่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง และมิใช่ผลสุดท้ายของการกระทำแต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง  และแทรกหรือแฝงอยู่ในการปฏิบัติงานตามปกติของหน่วยรับตรวจ  ฝ่ายบริหารจึงควรนำการควบคุมภายในมาใช้โดยรวมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารงาน ซึ่งได้แก่ การวางแผน การดำเนินการ และการติดตามผล
       ๒.  การควบคุมภายในเกิดขึ้นได้โดยบุคลากรของหน่วยงาน บุคลากรทุกระดับ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้มีการควบคุมภายในเกิดขึ้นในหน่วยงาน ฝ่ายบริหารเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ วางกลไกการควบคุมและการกำหนดกิจกรรมต่าง  ๆ รวมทั้งการติดตามผล การควบคุมภายใน ส่วนบุคลากรอื่นของหน่วยงานรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนดขึ้น
แนวทางการติดตามประเมินผลการควบคุมภายใน
      สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสถานศึกษา  ดำเนินการติดตามประเมินผลการควบคุมภายใน ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. ๒๕๔๔ ดังนี้
      ส่วนงานย่อย (กลุ่ม/งาน)
   ๑. นำแบบ  ปย.๒ (ปีงบประมาณ ๒๕๕๖) มาติดตามผลการดำเนินงานว่าได้ดำเนินการตามแผนการปรับปรุงหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร แล้วสรุปลงในแบบติดตาม ปย.๒
   ๒. ประเมินองค์ประกอบของการควบคุมภายใน (๕ องค์ประกอบ) ในระดับส่วนงานย่อย แล้วสรุปลงในแบบ ปย.๑
   ๓. นำกิจกรรม/งานในระดับส่วนงานย่อยมาวิเคราะห์หาความเสี่ยงตามแบบประเมินการควบคุมภายในด้วยตนเอง (แบบ CSA)
   ๔. เมื่อดำเนินการตามข้อ ๑-๓ เรียบร้อยแล้ว ให้นำกิจกรรม/งานที่ผลการดำเนินงานยังไม่ลดความเสี่ยงลงตามข้อ ๑ และกิจกรรม/งานที่เป็นความเสี่ยงที่พบใหม่ตามข้อ ๒ และข้อ ๓  มาหามาตรการ/แนวทางการปรับปรุง แล้วกำหนดผู้รับผิดชอบและระยะเวลาที่ดำเนินการเสร็จแล้ว สรุปลงในแบบ ปย.๒
   ๕. จัดส่งแบบ ปย.๑ และแบบ ปย.๒ ให้ผู้รับผิดชอบระดับหน่วยรับตรวจ
      หน่วยรับตรวจ (สพป./สพม./สถานศึกษา)
   ๑. แต่งตั้งคณะทำงาน/กรรมการ ติดตามประเมินผลการควบคุมภายใน
   ๒. นำแบบ ปอ.๓ (ปีงบประมาณ ๒๕๕๗) มาติดตามผลการดำเนินงานว่าได้ดำเนินการตามแผนการปรับปรุงหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร แล้วสรุปลงในแบบติดตาม ปอ.๓
   ๓. ประเมินองค์ประกอบของการควบคุมภายใน (๕ องค์ประกอบ) ในระดับหน่วยรับตรวจ แล้วสรุปลงในแบบ ปย.๒
   ๔. เมื่อดำเนินการตามข้อ ๑-๓ เรียบร้อยแล้ว ให้นำกิจกรรม/งานที่ผลการดำเนินงานยังไม่ลดความเสี่ยงลงตามข้อ ๒ และกิจกรรม/งานที่เป็นความเสี่ยงท่พบใหม่ตามข้อ ๓ และแบบ ปย.๒ ของกลุ่ม/งาน ที่ส่งมาให้หน่วยรับตรวจ โดยให้คณะทำงาน/กรรมการร่วมกันพิจารณาคัดเลือกกิจกรรม/งานที่เป็นความเสี่ยงในระดับหน่วยรับตรวจ แล้วสรุปลงในแบบ ปอ.๓
  ๕. นำกิจกรรม/งานที่ปรากฏในแบบ ปอ.๓ มาสรุปเป็นความเรียงลงในแบบ ปอ.๑
  ๖. ส่งร่างรายงานแบบ ปอ.๑ แบบ ปอ.๒ แบบ ปอ.๓ และแบบติดตาม ปอ.๓ ให้ผู้อำนวยการหน่วยตรวจสอบภายในของ สพป. และ สพม. สอบทานร่างรายงานดังกล่าว แล้วผู้อำนวยการหน่วยตรวจสอบภายในสรุปผลการสอบทานลงในแบบ ปส.
   ๗. เมื่อผู้อำนวยการหน่วยตรวจสอบภายในสอบทานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำแบบรายงานดังกล่าวเสนอผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาลงนาม
   ๘. สพป./สพม. จัดส่งแบบ ปอ.๑  ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค และคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำกระทรวงศึกษาธิการ  ภายในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
รายงานการติดตามประเมินผลการควบคุมภายใน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘
๑. หนังสือรับรองการประเมินผลการควบคุมภายใน (แบบ ปอ.๑)  คตง.  คตป.  สพฐ.
  ๒. รายงานผลการประเมินองค์ประกอบของการควบคุมภายใน (แบบ ปอ.๒)
  ๓. รายงานแผนการปรับปรุงการควบคุมภายใน (แบบ ปอ.๓)
  ๔. รายงานผลการติดตามการปฏิบัติตามแผนการปรับปรุงการควบคุมภายใน (แบบติดตาม ปอ.๓)
  ๕. รายงานผลการสอบทานการประเมินผลการควบคุมภายในของผู้ตรวจสอบภายใน (แบบ ปส.)



รายละเอียดผู้เขียนบทความ blog
blog name :
เจ้าของ blog :
วัน/ เดือน/ ปีเกิด :
สถานที่ทำงาน :
จำนวนบทความใน blog :
ระดับของ blog :
admoff008
เรวดี พงเสนา
27/12/2504
สพป.นครศรีธรรมราช เขต 4
12 เรื่อง
[ มือใหม่ ]